วันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เขาพระวิหาร

เขาพระวิหารในอคีตถึงปัจจุบัน

คดีปราสาทพระวิหาร เป็นความขัดแย้งระหว่างราชอาณาจักรกัมพูชากับราชอาณาจักรไทย ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2501 จากปัญหาการอ้างสิทธิเหนือบริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ที่ชายแดนไทยด้านอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และชายแดนกัมพูชาด้านจังหวัดพระวิหาร เกิดจากการที่ทั้งไทยและกัมพูชา ถือแผนที่ปักปันเขตแดนตามแนวสันปันน้ำของเทือกเขาพนมดงรักคนละฉบับ ทำให้เกิดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของทั้งสองฝ่ายในบริเวณที่เป็นที่ตั้งของตัวปราสาท โดยทั้งฝ่ายกัมพูชาและฝ่ายไทยได้ยินยอมให้มีการพิจารณาปัญหาดังกล่าวขึ้นที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี พ.ศ. 2502
คดีนี้ศาลโลกได้ตัดสินให้ตัวปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ท่ามกลางความไม่พอใจของฝ่ายไทย ซึ่งเห็นว่าศาลโลกตัดสินคดีนี้อย่างไม่ยุติธรรม อย่างไรก็ตาม การตัดสินคดีครั้งนี้ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องอาณาเขตทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชาในบริเวณดังกล่าวให้หมดไป และยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังต่อมาจนถึงปัจจุบัน
หลังจากกัมพูชาเป็นเอกราช ในวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2493 ประเทศไทยได้เป็นประเทศแรกที่ได้ให้การรับรอง จนมีการตั้งสำนักผู้แทนทางการทูตขึ้นที่กรุงพนมเปญ และสัมพันธภาพก็เจริญมาด้วยดีโดยตลอด จนกระทั่ง พ.ศ. 2501 เอกอัครราชทูตกัมพูชา ประจำกรุงลอนดอน ซัมซารี ได้เขียนบทความเกี่ยวกับสิทธิเหนือปราสาทเขาพระวิหาร ลงในนิตยสาร "กัมพูชาวันนี้ (le Combodge d'aujourd'hui) " มีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุบว่า"ไทยอ้างสิทธิเหนือวิหารนี้ โดยการใช้กำลังทหารเข้ายึดเอาพระวิหาร-อันเป็นการกระทำแบบฮิตเลอร์" จากนั้นมาวิทยุและหนังสือพิมพ์ของกัมพูชาก็ได้พูดถึงเรื่องสิทธิเหนือปราสาทเขาพระวิหารนี้อยู่เรื่อย ๆ จนเกิดกระแส "ทวงเขาพระวิหารคืนจากไทย"แต่ยังไม่รุนแรงนัก นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ปล้นสะดมทางชายแดนไทย-กัมพูชาเสมอ ๆ ทำให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการผสมเพื่อดำเนินการตรวจสอบเส้นเขตแดน แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลกัมพูชา ทำให้ความสัมพันธ์เริ่มทรุดลงอย่างรวดเร็ว
วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 ประเทศจีนได้ประกาศรับรองกัมพูชา และพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหนุได้เสด็จไปเยือนปักกิ่ง ซึ่งในสมัยนั้นอยู่ในช่วงระวังการแทรกซึมจากคอมมิวนิสต์ รัฐบาลไทยจึงประกาศภาวะฉุกเฉินในเขตท้องที่จังหวัดตราดจันทบุรีปราจีนบุรีสุรินทร์บุรีรัมย์ศรีสะเกษ และอำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เหตุการณ์จึงตึงเครียดหนักขึ้น
วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2501 มีการเจรจาเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาขึ้นที่กรุงเทพ แต่ไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ วันที่ 7 กันยายน ปีเดียวกัน ประเทศไทยได้เดินขบวนประท้วงประเทศกัมพูชา และอ้างถึงกรรมสิทธิ์ของไทยเหนือเขาพระวิหาร นอกจากนี้ยังมีการโจมตีระหว่างสื่อไทยและกัมพูชากันอยู่เนื่อง ๆ จนกระทั่งวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501 รัฐบาลกัมพูชาได้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย และความสัมพันธ์ก็เลวร้ายลงจนไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลโลกคดีนี้มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2447 ถึง พ.ศ. 2451 ประเทศฝรั่งเศสมีฐานะเป็นรัฐผู้อารักขากัมพูชา ได้ทำสัญญากับราชอาณาจักรสยามอยู่หลายฉบับ แต่มีสัญญาอยู่ฉบับหนึ่งที่เป็นต้นเหตุของปัญหานี้ คือ สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ร.ศ. 122 มีความตกลงอยู่ว่า พรมแดนที่เป็นปัญหาให้ถือเอาสันปันน้ำเป็นเกณฑ์ในการแบ่งเขตแดน และให้แต่งตั้งคณะกรรมการปักบันเขตแดน เพื่อได้ทำการสำรวจบริเวณพื้นที่แถบนั้น
ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 ทางการสยามได้ขอให้ทางฝรั่งเศสทำแผนที่พรมแดน ฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่ขึ้นจำนวนหนึ่ง หนึ่งในนั้นเป็นแผนที่ที่ฝรั่งเศสลากเส้นเอาเขาพระวิหาร ซึ่งอยู่ในความครอบครองของราชอาณาจักรสยาม ไปอยู่ในฝั่งเขตแดนกัมพูชาของทางฝรั่งเศสด้วย โดยมิได้ยึดแนวสันปันน้ำเป็นเกณฑ์ (แผนที่นี้ต่อมาเรียกว่า "แผนที่ผนวก 1" (Annex I map) )
กระนั้น สยามไม่ได้คัดค้านแผนที่นั้นภายในเวลาอันสมควร คณะกรรมการฝ่ายไทยไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เลย แม้จะไม่ได้แสดงการยอมรับ แต่ก็ไม่ได้ทำการคัดค้านว่าแผนที่ฉบับที่มีปัญหานั้นไม่ถูกต้อง ท่านเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นคือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ตรัสขอบใจราชทูตฝรั่งเศสผู้นำส่งแผนที่นั้น และผู้ว่าราชการจังหวัดก็มิได้ทำการทักท้วง ต่อมา มีการประชุมคณะกรรมการที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2452 โดยใช้แผนที่ผนวก 1 นี้เป็นหลัก ก็ไม่มีผู้คัดค้าน
ปี พ.ศ. 2468 มีการจัดทำสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส โดยมีการอ้างอิงถึงเขตแดนดังกล่าว และในการเจรจาสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อปี พ.ศ. 2490 รัฐบาลไทยไม่ได้ประท้วงประเด็นดังกล่าว นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2473 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จไปเขาพระวิหาร โดยมีผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศสรับเสด็จในฐานะทรงเยือนจังหวัดหนึ่งของกัมพูชา แม้ในระหว่าง พ.ศ. 2477-2478 มีการสำรวจพบว่ามีความแตกต่างระหว่างเส้นพรมแดนในแผนที่และแนวสันปันน้ำจริง และได้มีการทำแผนที่อื่น ๆ ซึ่งแสดงว่าปราสาทดังกล่าวอยู่ในราชอาณาจักรสยาม แต่สยามยังคงใช้และจัดพิมพ์แผนที่ที่แสดงว่าพระวิหารตั้งอยู่ในกัมพูชาต่อไป เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิจารณาว่า รัฐบาลไทยขณะนั้นได้ยอมรับ (acquiese) ว่า ฝรั่งเศส มีอำนาจอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารเป็นเวลายาวนานถึง 50 ปีมาแล้ว ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ว่าด้วยหลักกฎหมายปิดปาก (estoppel)
ปี พ.ศ. 2501 หลังจากกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส จึงเริ่มมีข้อขัดแย้งเรื่องเขตแดนรอยต่อระหว่างไทยกับกัมพูชา จนกระทั่งเจ้านโรดมสีหนุ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาขณะนั้น นำเรื่องขึ้นเสนอสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในปี พ.ศ. 2502 โดยใช้แผนที่ผนวก 1 เป็นหลักฐานสำคัญ ซึ่งแม้เส้นเขตแดนบนแผนที่จะไม่ได้ใช้สันปันน้ำเป็นเกณฑ์ แต่แผนที่ฉบับนี้ไม่เคยถูกคัดค้านจากรัฐบาลสยามและไทยมาก่อน
ดังนั้นในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จึงได้ตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 นอกจากนั้นยังตัดสินด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 5 ให้ประเทศไทยส่งคืนโบราณวัตถุที่นำออกมาจากปราสาทเขาพระวิหารตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยได้เข้ายึดครองพื้นที่ดังกล่าว


ไทย เตรียมยก 4 ยุทธศาสตร์ สู้คดีเขาพระวิหาร

           ไทย ชู 4 ยุทธศาสตร์ ชี้แจงต่อศาลโลกบ่ายวันนี้ (17 เมษายน) สู้คดีเขาพระวิหาร มั่นใจ ศาลไม่มีอำนาจตัดสินเขตแดน ด้านทีมสู้คดีเตรียมปรับเนื้อหาบางส่วนให้มีน้ำหนักมากกว่าที่กัมพูชาพูด

           เมื่อวันที่ 16 เมษายน นายไกรรวี ศิริกุล รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการต่อสู้คดีเขาพระวิหารว่า คณะดำเนินด้านกฎหมายต่อสู้คดีของไทย จะใช้ 4 ยุทธศาสตร์ ในการชี้แจงต่อศาลโลกในวันที่ 17 เมษายนนี้ ประกอบด้วย

           1. พยายามชี้ให้ศาลโลกเห็นว่า ศาลโลกไม่มีอำนาจพิจารณา และกัมพูชาไม่มีอำนาจฟ้อง

           2. กัมพูชาไม่สิทธิยื่นศาลเพื่อขอตีความคำตัดสินคดีเดิมในรูปแบบการอุทธรณ์ที่ซ่อนมาในรูปของคำขอตีความ ซึ่งขัดต่อธรรมนูญของศาลโลกและขัดต่อแนวคำพิพากษาเดิม ในคดีปี 2505

           3. ไทยปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลกครบถ้วน และไทยและกัมพูชา ไม่มีข้อพิพาทเรื่องการตีความคำพิพากษา

           และ 4. คำตัดสินเมื่อปี 2505 ศาลได้กล่าวถึงอธิปไตยเหนือตัวปราสาทพระวิหาร โดยไม่ได้ระบุถึงเส้นเขตแดน ดังนั้น พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่กัมพูชาเรียกร้องในปัจจุบัน ไม่ใช่บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร 


           ทั้งนี้ มั่นใจว่า 4 ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะสามารถหักล้างข้อโต้แย้งของฝ่ายกัมพูชาได้ เพราะไทยจะพยายามชี้ว่า ศาลโลกไม่มีอำนาจพิจารณาและไม่อาจรับคำร้องของกัมพูชาได้ และถ้าศาลเห็นว่าศาลมีอำนาจรับคำขอได้ ก็ไม่มีเรื่องอะไรที่จะต้องตีความ เพราะศาลปฏิเสธการตีความเรื่องเขตแดนมาตั้งแต่คำพิพากษาเดิม หากศาลโลกมีอำนาจในการกำหนดเส้นเขตแดนก็คงตัดสินไปตั้งแต่ปี 2505 แล้ว ไม่ปล่อยให้ผ่านมาเนิ่นนานเช่นนี้

           นอกจากนี้ นายไกรรวี ยังระบุด้วยว่า ไทยมีหลักฐานพร้อมที่จะยืนยันว่า ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา เหตุใดกัมพูชาไม่เคยท้วงติงเรื่องพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเลย แต่ปัจจุบันกลับมายื่นเรื่องให้ศาลโลกตีความ นั่นเพราะกัมพูชาต้องการจะขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารให้เป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งมีพื้นที่อนุรักษ์กินเข้ามาในดินแดนไทยจำนวนมาก

           ในส่วนของคณะล่ามที่แปลการชี้แจงทางวาจาระหว่างการถ่ายทอดสดนั้น นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร ระบุว่า ต้องขออภัยที่มีความขลุกขลักบางส่วนในวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา แต่ในวันที่ 17 เมษายนนี้ ได้ปรับปรุงแก้ไขและให้ข้อมูลบางอย่างเพิ่มเติม เพื่อให้ล่ามสามารถถ่ายทอดได้ดีขึ้น
           ขณะที่ นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะตัวแทนประเทศไทย ก็ได้กล่าวก่อนขึ้นชี้แจงด้วยวาจาต่อศาลโลก ว่า สิ่งที่กัมพูชาขึ้นชี้แจงไปเมื่อวันที่ 15 เมษายนนั้นส่วนใหญ่อยู่ในข้อเขียน มีเรื่องใหม่น้อยมาก คือมีเพียงแค่ 2 ประเด็นเท่านั้น คือ 

           1. เรื่องแผนที่ที่นอกเหนือจากแผนที่ภาคผนวก 1 หรือแผนที่ 1 : 200,000 ซึ่งเป็นผนวกคำฟ้องเมื่อปี 2505 แต่ไม่ใช่ผนวกคำพิพากษา ทั้งนี้ กัมพูชาได้ยึดแผนที่อันเดียวมาตลอด แต่เขาบอกว่ามีแผนที่อื่น ๆ อีก ซึ่งในการพิจารณาคดีเก่ามีการนำแผนที่มาใช้อ้างอิง 60 ฉบับ และศาลโลกได้นำมาผลิตแนบเข้ามาในประมวลคดี 6 ฉบับ

           2. เรื่องข้อเท็จจริงหลังคำพิพากษา คือพฤติกรรมของคู่คดีจากปี 2505 ถึงปัจจุบัน 

           ทั้งนี้ นายวีรชัย ยังบอกด้วยว่า ทางไทยเตรียมจะนำเสนอแผนที่หลายฉบับต่อศาลโลก ซึ่งนั่นก็ทำให้กัมพูชากล่าวต่อศาลโลกว่า ไม่เข้าใจว่าไทยต้องมาเสนอเอกสารอะไรมากมาย เป็นการไม่เคารพศาลโลก แต่เราก็เตรียมจะโต้แย้งเขาในวันนี้ โดยไม่ได้ใช้เหตุผลเรื่องแผนที่เพียงอย่างเดียว ยังจะมีประเด็นอื่น ๆ ด้วย

           นายวีรชัย กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 17 เมษายน ตนจะขึ้นพูดเป็นคนแรก ตามด้วย ศ.โดนัล เอ็ม แม็คเรย์ และ น.ส.อลินา มิรอง ซึ่ง น.ส.มิรอง นี้ จะพูดเรื่องแผนที่ เพราะเป็นผู้ที่ทำงานเรื่องแผนที่โดยเฉพาะกว่า 60 ฉบับ ตามด้วย ศ.เจมส์ ครอว์ฟอร์ด และสุดท้ายคือ ศ.แปลเล่ต์ พร้อมยืนยันว่าจะต่อสู้เต็มที่

วันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2556




น้าชาติ อยากทราบประวัติผู้นำมาเลเซียคนปัจจุบัน คือ นายราซัก มีประวัติความเป็นมาอย่างไรถึงมาเป็นนายกได้

บ่าวกันตัง

ตอบ บ่าวกันตัง


นายกรัฐมนตรีแห่งมาเลเซีย นายนาจิบ ราซัก ชื่อเต็มคือ นาจิบ อับดุล ราซัก (Najib Abdul Razak) หรืออีกนามว่า Najib Tun Razak


เกิดวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2496 ณ เมืองกัวลาลิปิส รัฐปะหัง เป็นบุตรคนโตของอดีตนายกรัฐมนตรี ตุน อับดุล ราซัก ฮุสเซน (เป็นนายกฯ คนที่ 2 ของมาเลเซีย อยู่ในตำแหน่งช่วง พ.ศ.2513-2519) กับ ตุน ราฮาห์ มุฮัมหมัด นุฮ์


ได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนเซนต์จอห์น อินสติติวต์ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ จากนั้นไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยมาเวน บอยส์ เมือง วอร์เชสเตอร์เชียร์ ประเทศอังกฤษ ก่อนสำเร็จปริญญาเกียรตินิยมทางด้านเศรษฐ ศาสตร์อุตสาหกรรมที่มหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม


เส้นทางการเมืองเริ่มจากลงสมัครส.ส. ในเขตเปกัน รัฐปะหังบ้านเกิด เป็นการเลือกตั้งซ่อมแทนที่บิดาของเขาซึ่งเสียชีวิต และที่สุดเขาสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้การเมืองมาเลเซีย เป็นส.ส.อายุที่สุดน้อยด้วยวัย 23 ปี โดยชนะการเลือกตั้งซ่อมแบบไร้คู่แข่ง และนับแต่นั้นก็ก้าวหน้ารุ่งโรจน์เรื่อยมา


หลังจากนั้นเพียง 2 ปี ได้รับแต่งตั้งเป็น รมช.พลังงาน ตามด้วยกระทรวงโทรคมนาคมและไปรษณีย์ ที่สุดปี 2525 ได้เป็นผู้ว่าการรัฐปะหัง


สร้างสถิติเป็นผู้ว่าการรัฐที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ คือ 29 ปี เขาอยู่ในตำแหน่งถึงปี 2529


ต่อมาเป็น รมว.วัฒนธรรม เยาวชนและการกีฬา และหลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2533 ได้ดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม


ปี 2538 เป็นรมว.ศึกษาธิการ ก่อนว่าการกลาโหมอีกรอบหลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2542


ภายหลัง ดาโต๊ะเซอรี อับดุลเลาะห์ อาห์หมัด บาดาวี เข้าสืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนตุลาคม 2546 นาจิบได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2547 กระทั่งวันที่ 17 กันยายน 2551 ได้รับแต่งตั้งเป็น รมว.คลัง


ปลายเดือนมีนาคม 2552 ได้ฉันทานุมัติจากการประชุมสมัชชาพรรคอัมโน แต่งตั้งเป็นประธานอัมโน แทนที่นายอับดุลเลาะห์ อาห์หมัด บาดาวี


หลังจากขึ้นเป็นผู้นำพรรคได้ 3 วัน วันที่ 3 มีนาคม 2552 นาจิบ ราซัก เข้าพิธีสาบานตนเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ของประเทศมาเลเซีย ต่อพระพักตร์องค์พระราชาธิบดีตวนกู มิซาน ไซนัล อะบีดิน


เขากล่าวว่า "การรับตำแหน่งนี้เป็นความมีเกียรติอันยิ่งใหญ่ แต่ที่สำคัญมากกว่า คือผมได้ตระหนักถึงภาระหน้าที่นี้อย่างมาก และคอยเตือนตัวเองว่านี่ไม่ใช่สถานะ ไม่ใช่อำนาจ แต่เป็นความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ และเป็นความหวังของประชาชน"


และว่า ต้องทำงานให้ดีที่สุด เพื่อประชาชนจะไว้วางใจว่ารัฐบาลของเขาเป็นรัฐบาลที่รับใช้ประชาชน และฝากความหวังไว้ได้เพราะเป็นรัฐบาลที่เข้าใจถึงความต้องการของพวกเขา


ก่อนขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศ เคยถูกกล่าวหาว่ามีความสัมพันธ์และพัวพันคดีฆาตกรรมนางสาวอัลตันตูยา ชารีบู ล่ามชาวมองโกเลีย วัย 28 ปี ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2549 ก่อนที่ศพจะถูกนำไประเบิดทิ้งในป่าชานกรุงกัวลาลัมเปอร์


นาจิบ ราซัก ปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยยืนยันว่าเขาไม่เคยพบเหยื่อแต่อย่างใด และไม่เคยมีเพศสัมพันธ์กับเหยื่อหรือไปเกี่ยวข้องกับการพยายามปกปิดข่าวการฆ่าตามที่ถูกกล่าวหา ซึ่งที่สุดศาลยกฟ้อง